ยินดีที่แวะมาเยี่ยม web blog ทักษะการจัดการความรู้ (KM) ทักษะการเรียนรู้ที่สำคัญและจำเป็นสำหรับผู้เรียนศตวรรษที่ 21 วิชาประวัติศาสตร์ กลุ่มสาระสังคมศึกษาฯ โรงเรียนเสลภูมิพิทยาคม ขอบคุณคุณครูชาญวิทย์ ปรีชาพาณิชพัฒนา และเพื่อนๆ ที่แนะนำให้คำปรึกษา

วันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

สังคมวัฒนธรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์

สังคมวัฒนธรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์
ยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

การพัฒนาขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม
     หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475   มีการเปลี่ยนแปลงที่เด่นชัดในเรื่องการแต่งกาย ผู้ชายเริ่มแต่งกายแบบสากล คือสวมเสื้อนอกกระดุมห้าเม็ด กางเกงขายาวแบบสากล   รองเท้าหุ้มส้นและสวมถุงเท้า ยกเลิกการนุ่งผ้าม่วงโจงกระเบนและเสื้อราชปะแตน
นโยบายสร้างชาติทางวัฒนธรรมของจอมพลแปลก พิบูลสงคราม
     ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีของไทยหลายประการ คือ
           1. การเปลี่ยนชื่อประเทศจาก “สยาม” เป็น “ประเทศไทย” ในปี พ.ศ.2482
           2. ใช้คำว่า “ไทย” กับคนไทย และสัญชาติไทย
           3. กำหนดให้วันที่ 24 มิถุนายน ซึ่งตรงกับวันเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็น “วันชาติไทย” เริ่มในปีพ.ศ.2482
           4. เปลี่ยนเนื้อร้องเพลงชาติและเพลงสรรเสริญพระบารมี ไม่ให้มีคำว่า สยาม
           5. ให้ยืนตรงเคารพธงชาติพร้อมกันทั่วประเทศ ในเวลา 08.00 น. เชิญธงชาติขึ้น และเวลา 18.00 น. ชักธงชาติลง
           6. เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จาก “1 เมษายน” เป็น “1 มกราคม” ตามแบบสากล เริ่ม พ.ศ.2484
           7. การแต่งกาย
                        ข้าราชการให้แต่งเครื่องแบบ
                        ราษฎรทั่วไป                              ผู้ชาย ให้สวมเสื้อนอกคอเปิดหรือปิด นุ่งกางเกงขายาว สวมหมวกปีกสวมถุงเท้า รองเท้า
                            ผู้หญิง สวมเสื้อนอกคุมไหล่ นุ่งผ้าถุง ห้ามนุ่งโจงกระเบน

                การแต่งกายไว้ทุกข์ในงานศพ ผู้ชาย ใช้เสื้อขาว กางเกงขายาวขาว ผ้าผูกคอสีดำ สวมปลอกแขนสีดำ ที่แขนเสื้อด้านซ้าย สวมรองเท้าดำ ถุงเท้าดำ ผู้หญิง ให้แต่งชุดดำล้วน
           8. การกินอาหาร ให้ใช้ช้อนส้อมแทนการใช้มือเปิบ
           9. ห้ามกินหมากโดยเด็ดขาด
         10. ประกาศงดใช้พยัญชนะ 13 ตัว ได้แก่ ฃ ฅ ฒ ญ ฎ ฏ ฐ ฑ ฌ ศ ษ ฬ ตัดสระออก 5 ตัว
                        ได้แก่ ฤ ฤา ฦ ฦา ใ แต่ในสมัย นายควง อภัยวงศ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็นำกลับมาใช้ใหม่
         11. ให้ใช้คำว่า “ฉัน” , “เรา” , “เขา” , “ท่าน” , “มัน” ใช้คำรับและปฏิเสธว่า “จ้ะ” , “ค่ะ” , “ครับ” , “ไม่”
         12. ให้ใช้คำว่า “สวัสดี” ในโอกาสที่พบกัน
         13. ยกเลิกบรรดาศักดิ์ เช่น เจ้าพระยา พระยา พระ หลวง ขุน ให้ใช้ชื่อและนามสกุลแทน
         14. การตั้งชื่อบุคคลต้องให้เหมาะสมกับเพศและมีความยาวไม่เกิน 3 พยางค์
         15. ตั้งกระทรวงวัฒนธรรม เมื่อ พ.ศ.2495 เพื่อส่งเสริมงานด้านวัฒนธรรม ภายหลังถูกยุบรวมกับกระทรวงศึกษาธิการ

การฟื้นฟูขนบธรรมเนียมประเพณี (พ.ศ.2501-2506)สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี
          1. พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา จัดให้มีพิธีเสด็จพระราชดำเนินตรวจพลสวนสนามของหน่วยทหารรักษาพระองค์ มีการตกแต่งโคมไฟและประดับธงชาติตามสถานที่ราชการ บ้านเรือน ห้างร้าน เพื่อถวายพระเกียรติ
          2. ประกาศยกเลิกวันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติ และกำหนดวันชาติใหม่ คือ วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา ใช้มาจนถึงปัจจุบัน
          3. ฟื้นฟูพระราชพิธีมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
          4. ฟื้นฟูพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินทอดผ้าพระกฐินโดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค
          5. ฟื้นฟูพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค

การฟื้นฟูพระราชพิธีที่สำคัญ สมัยจอมพลถนอม  กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี
          1. ฟื้นฟูพระราชพิธีรัชดาภิเษก ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติครบ 25 ปี ซึ่งรัชกาลที่ 5 เคยกระทำมาแล้ว
          2. ฟื้นฟูพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร ในปีพ.ศ.2515 โดยคณะรัฐบาลได้นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ ทรงพระกรุณาสถาปนาเฉลิมพระบรมนามาภิไธย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ ดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร ตามโบราณขัตติยราชประเพณี

การศึกษาหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง          1. รัชกาลที่ 7 เห็นความสำคัญของการศึกษาโดยไม่ตัดทอนรายจ่ายด้านการศึกษาเลย ถึงแม้จะประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างหนักก็ตาม
          2. หลัก 6 ประการของคณะราษฎร ก็มีการกำหนดการพัฒนาการศึกษา โดยริเริ่ม วางแผนการศึกษาแห่งชาติ จัดให้มีการศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
          3. ในปี พ.ศ.2477 จัดตั้ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นับเป็นมหาวิทยาลัยแห่งที่ 2 ของไทย ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 7
          4. สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จัดตั้งสภาการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2503 ขยายการศึกษาภาคบังคับ จาก 4 ปี เป็น 7 ปี
          5. ในปี พ.ศ.2520 ลดการศึกษาภาคบังคับ จาก 7 ปี เหลือ 6 ปี (ป.1-ป.6) และเพิ่มระดับมัธยมศึกษาจาก 5 ปี เป็น 6 ปี (ม.1-ม.6)
          6. ปัจจุบันปีพ.ศ.2546 การศึกษาภาคบังคับเพิ่มขึ้นจาก 6 ปี เป็น 9 ปี (จบม.3)
          7. ในปีพ.ศ.2514 รัฐบาลจัดตั้งมหาวิทยาลัยเปิด คือ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
          8. ในปีพ.ศ.2521รัฐบาลจัดตั้งมหาวิทยาลัยเปิดแห่งที่ 2 คือมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
          9. ส่งเสริมให้เอกชนจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ปัจจุบันมีจำนวนมากหลายแห่ง เช่น ในภาคเหนือ มีมหาวิทยาลัยพายัพ ที่จังหวัดเชียงใหม่
        10. มหาวิทยาลัยที่ตั้งขึ้นล่าสุดในภาคเหนือที่ จังหวัดเชียงรายคือ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ตั้งขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติแด่ สมเด็จย่า (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี)


ที่มา : ดร.ประเสริฐ วิทยารัฐและคณะ,หนังสือเรียน ส306 ประเทศของเรา 4 สมบูรณ์แบบ,  (กรุงเทพฯ : วัฒนาพานิช,2542)
          คณะทำงานเฉพาะกิจการจัดทำหนังสือประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ ,
           ประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ ,   (กรุงเทพฯ : อัมรินทร์การพิมพ์,2525)                                        

          สุคน  สินธพานนท์ และพรรษมน กิตติสารศักดิ์. สังคมศึกษา ส306. 2542. หน้า 72.
          http://th.wikipedia.org/wiki/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น